มุคตาร์ กีละ หัวหน้าพรรคประชาธรรม ถูกยิงเสียชีวิต

(อินนาลิลลาวะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน)
ผู้สื่อข่าวฟาตอนี ออนไลน์ ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากคนในพื้นที่ว่า นายมุคตาร์ กีละ หัวหน้าพรรคประชาธรรมถูกยิงเสียชีวิต วันนี้ (15 ธ.ค.) เวลา 22.00 น.ที่บ้านลูโบ๊ะกาเยาะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มุคตาร์ กีละ หัวหน้าพรรคประชาธรรม ถูกยิงเสียชีวิต ในหมู่บ้าน ใกล้แยกลูโบ๊ะกาเยาะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส โดยคนร้าย 4 ตนได้มาดักรอซุ่มยิง ด้วยอาวุธสงคราม หลังยิงเสร็จได้ขี่จักรยานยนต์หลบหนี แต่เจอ ชรบ. และอส. ตั้งด่าน จนเกิดการต่อสู้คนร้ายถูกยิงตาย 2 ศพ พร้อมอาวุธ เบื้องต้นตำรวจยังไม่เปิดเผยอคนร้ายที่ถูถยิงเสียชีวิตในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ว่าเป็นใคร……….

โดยก่อนหน้าที่จะถูกยิงนายมุคตาร์ ได้ไปนั่งคุยที่บ้านประธานสาขาพรรคประชาธรรมซึ่งในหมู่บ้านเดียวกันตน หลังคุยเสร็จนายมุคตาร์ได้แยกออกมาเพื่อจะกลับบ้าน ซึ่งเดินออกมาไม่ไกลก็ถูกคนร้ายซุ่มยิงจนเสียชีวิต

แหล่งข่าวที่ใกลชิดกับนายมุคตาร์ยืนยันว่า การเสียชีวิตของหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคประชาธรรมครั้งนี้มีปมมาจากการเมืองอย่างแน่นอน

ส่วนมัยยิตของนายมุคตาร์ ขณะนี้กำลังนำกลับจากโรงพยาบาลไปยังบ้านพัก โดยจะมีการละหมาดยะนาซะห์พรุ่งนี้ (16 ธ.ค.) เวลาประมาณ 9.00 น. ที่ บ้านลูโบ๊ะกาเยาะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

อนึ่ง พรรคประชาธรรม เป็นพรรคที่แสดงตนเป็นพรรคมาลายู ก่อกำเนิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคนในพื้นที่ มีมุคตาร์ กีละ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งมุ่งหวังที่จะผลักดันการแก่ปัญหาความไม่สงบจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก ได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งที่ผานมา แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียว

ก่อนหน้าการเลือกตั้ง มุคตาร์เคยถูกผู้สื่อข่าว ดีฟเซาท์วอช ตั้งคำถามว่า คิดอย่างกับคำกล่าวที่ว่า พรรคประชาธรรมเป็นพรรคไม้ประดับ เพราะเป็นพรรคเล็กที่ต้องแข่งขันกับพรรคการเมืองใหญ่ๆ

มุคตาร์ ตอบว่า เขาภาคภูมิใจ เพราะเป็นครั้งแรกที่คนมลายู สามารถก่อตั้งพรรคการเมืองได้ เป็นการยกฐานะของคนมลายู จากอดีตที่คนมลายูไม่สามารถทำอะไรได้ทางการเมือง แต่ปัจจุบันพรรคประชาธรรมได้ก่อตั้งพรรคของคนมลายูขึ้นมา เพราะอนาคตของพรรคอยู่ประชาชน พรรคประชาธรรมไม่ได้สนใจพรรคใหญ่ๆ เราสนใจแต่พรรคเล็กๆ ว่า แต่ได้ทำในสิ่งที่เราตั้งใจ และขอจากอัลลอฮ์ให้พวกเราประสบความสำเร็จ.

มุคตาร์ กีละ จากพรรคสันติภาพไทยสู่พรรคประชาธรรม

สำหรับ นายมุคตาร์ เป็นบุคคลในแวดวงการเมืองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคสันติภาพไทย ซึ่งมี นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นหัวหน้าพรรค และได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ.2548 แต่ไม่มีผู้สมัครได้รับเลือก

ต่อมาพรรคสันติภาพไทยถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเปิดสาขาพรรคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด แต่ นายมุคตาร์ ก็ยังไม่ถอดใจ ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปในนามกลุ่มสันติภาพ

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2550 นายมุคตาร์ได้เข้าร่วมกับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นเคย กระทั่งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 นายมุคตาร์ได้ตั้งพรรคใหม่ ชื่อพรรคประชาธรรม ชูจุดขายว่าเป็นพรรคของคนมลายูแท้ๆ และขอโอกาสเป็นสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่สันติสุข เพราะปัญหาชายแดนใต้ต้องแก้โดยคนในพื้นที่เอง แม้เขาและผู้สมัครของพรรคจะไม่ได้รับการเลือกตั้งเลยอีกครั้ง แต่พรรคประชาธรรมก็สร้างกระแส “พรรคการเมืองของคนมลายู” ได้อย่างคึกคักไม่น้อย

ทั้งนี้ ช่วงรณรงค์หาเสียงก่อนหย่อนบัตรลงคะแนนเมื่อวันที่ 3 ก.ค. นายมุคตาร์ยังได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ เกี่ยวกับความหวังในสมรภูมิเลือกตั้ง และทิศทางการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย.

ศาลจำคุกตลอดชีวิต’หะยี ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ

ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุกตลอดชีวิต”หะยี ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ”อดีตหัวหน้า”พูโล”กับพวกรวม3คน ส่วน”อับดุล เราะห์มาน”ร่วมขบวนการจำคุก50ปีฐานแบ่งแยกดินแดน

วันนี้(2ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 914 ศาลอาญา ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกบฏแบ่งแยกดินแดน หมายเลขดำที่ ด.2722/2541 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายหะยี ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ หรือดาโอ๊ะ มะเซ็ง หรือดาโอะ มะเซ็ง อดีตหัวหน้าขบวนการพูโล อายุ 54 ปี จำเลยที่ 1 นายหะยี บือโด เบตง หรือนายบาบอแม เบตง หรือนายหะยี อาเซ็ม ประธานขบวนการพูโล อายุ 74 ปี จำเลยที่ 2 , นายอับดุล เราะห์มาน บิน อับดุลกาเดร์ หรือนายหะยี สมาชิกขบวนการพูโล อายุ 63 ปี จำเลยที่ 3 , นายหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หรือนายสะมะแอ สะอะ หรือหะยี อิสมาแอล กัดดาฟี หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธขบวนการพูโล อายุ 60 ปี จำเลยที่ 4 และนายยามี มะเซะ สมาชิกขบวนการพูโล อายุ 61 ปี จำเลยที่ 5 ในความผิดร่วมกันเป็นกบฏแบ่งแยกราชอาณาจักร สะสมกำลังพลและอาวุธ สมคบกันเป็นซ่องโจร

โดยอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 16 เม.ย.41 ระบุความผิดสรุปว่า ระหว่างปี 2511-2541 มีกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม สมคบกันก่อตั้งองค์กรทางการเมืองชื่อ องค์การปลดแอกแห่งชาติปัตตานี หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนพูโล เพื่อแบ่งแยกดินแดน 5 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และสงขลา บางส่วน สถาปนาเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง โดยไม่ขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลไทย ทั้งชักชวนให้สมาชิกนำญาติมิตรเข้าร่วมขบวนการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ ฝึกวิชาทหาร และการสู้รบแบบกองโจร ก่อวินาศกรรมตามสถานที่ราชการต่างๆ เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานีตำรวจ สถานีรถไฟ โรงแรม เผาอาคารสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน เป็นต้น รวมทั้งใช้อาวุธยิงข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศนับถือศาสนาอิสลาม ตลอดจนมีการข่มขู่กรรโชกทรัพย์เรียกค่าคุ้มครองจากพ่อค้า นักธุรกิจ เจ้าของสวนยางพารา และบริษัทรับเหมาก่อสร้างอื่นๆ ทำให้ขบวนการพูโล มีเงินทุนซื้ออาวุธ เพื่อก่อความวุ่นวายดังกล่าว ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1-4 ให้การรับสารภาพ แต่กลับมาให้การปฏิเสธชั้นพิจารณาของศาล

คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ต.ค.45 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1,2 และ 4 แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1,2 และ 4 ส่วนจำเลยที่ 3 และ 5 ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าร่วมกระทำผิดให้ยกฟ้อง

ต่อมาวันที่ 15 พ.ย.48 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ให้จำคุกตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์แก้โทษที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เป็นให้ประหารชีวิต แต่คำให้การจำเลยที่ 3 มีประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกเป็นเวลา 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 อัยการไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด ขณะที่จำเลยที่ 1,2,3,4 ยื่นฎีกา ยื่นฎีกาต่อ

ศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวนแล้ว เห็นว่าคดีนี้โจทก์มีพยาน ซึ่งเป็นน้องชายของพี่สะใภ้ของจำเลยที่ 2 รวมทั้งพยานอีกหลายปาก ซึ่งร่วมกันเป็นสมาชิกของขบวนการเบิกความว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มจำเลยได้ถูกชักชวนให้ร่วมเป็นสมาชิก และเคยเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มสมาชิกเคยเห็นกลุ่มวัยรุ่นประมาณ 20 คนร่วมอยู่ด้วย โดยระบุว่าหากเป็นสมาชิกจะได้สิทธิพิเศษในประเทศมาเลเซีย และได้รางวัลตอบแทนเมื่อจำเลยที่ 1 และ 2 ได้สั่งให้ทำการก่อความวุ่นวาย ซึ่งพวกจำเลยจะทำจดหมายข่มขู่เรียกค่าคุ้มครองและแบ่งแยกดินแดนไปวางไว้ตามสถานที่ต่างๆ ขณะที่พยานโจทก์ยังระบุว่าเมื่อร่วมเป็นสมาชิกแล้วระยะหนึ่ง

ต่อมามีคนในขบวนการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม จึงรู้สึกว่าขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้สมาชิกบางส่วนเข้ามอบตัวผ่านทางพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ขณะที่ข้อเท็จจริงที่ได้จากคำให้การรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เริ่มขบวนการมาตั้งแต่ปี 2529 และได้เป็นหัวหน้าขบวนการที่ติดอาวุธอยู่ในป่า จ.ยะลา ซึ่งภายหลังได้มีการแต่งตั้งสมาชิกคนอื่นให้เป็นหัวหน้าควบคุมแทน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าขบวนการพูโลใหม่ และภายหลังจากที่กลุ่มขบวนการพูโลไม่สามารถต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ได้ จึงเดินทางไปกลับมาเลเซีย ซึ่งมีพยานโจทก์เดินทางไปรับจ้างกรีดยางที่มาเลเซียได้เบิกความถึงเหตุการณ์ในขณะนั้นและการถูกชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิก

แม้ว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของโจทก์บางปากจะเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่เมื่อรับฟังร่วมกับพยานแวดล้อมต่างๆ มีรายละเอียดเชื่อมโยงสอดคล้อง จึงสามารถรับฟังได้ ประกอบกับพยานโจทก์ซึ่งร่วมขบวนการก็ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ก่อนที่จำเลยที่ 1-4 จะถูกจับกุมในคดีนี้ เป็นเวลานานหลายปี พยานโจทก์จึงไม่มีเหตุให้ต้องระแวงสงสัย

ส่วนที่จำเลยที่ 1-4 ฎีกา อ้างว่าคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนไม่ได้ทำด้วยความสมัครใจ แต่ถูกกดดัน ขู่เข็ญจากเจ้าพนักงาน เห็นว่า ในชั้นสอบสวนได้มีการบันทึกวีดีทัศน์จำเลยที่ 1 ขณะแสดงวิธีการประกอบระเบิดที่ไม่แสดงท่าทีถูกกดดัน ขณะที่คำให้การของพยานนำมาประกอบรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ไปศึกษาที่ประเทศซีเรียและได้รับการสอนวิธีการทำระเบิด ประกอบกับการออกคำแถลงของพวกจำเลยภายหลังถูกจับกุมมีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น และรองอธิบดีกรมตำรวจ รวมทั้งพนักงานสอบสวนร่วมอยู่ด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าตำรวจชั้นผู้ใหญ่จะกลั่นแกล้ง ขณะที่การสอบสวนดำเนินการเป็นคณะ จึงยากที่จะปรุงแต่งรายละเอียด ฎีกาของจำเลยที่ 1-4 ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยที่ 1-4 ฎีกาขอให้ศาลพิพากษาลงโทษสถานเบา เห็นว่า คดีนี้เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1-4 ได้ดำเนินการเป็นขบวนการก่อความไม่สงบ วางระเบิดสถานที่ต่างๆ และยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ ต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปีเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แม้ว่าพวกจำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน แต่ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณา จึงเห็นได้ว่าพวกจำเลยไม่สำนึกในการกะทำผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาโทษนั้นเหมาะสมแล้ว พิพากษายืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอ่านคำพิพากษาในวันนี้ เป็นการอ่านให้นายอับดุล เราะห์มาน บิน อับดุลกาเดร์ จำเลยที่ 3 ฟัง ส่วนนายหะยี ดาโอ๊ะท่าน้ำ จำเลยที่ 1 นายหะยี บือโด เบตง จำเลยที่ 2 และนายหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ จำเลยที่ 4 ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ จ.สงขลา ได้อ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดสงขลาแล้ว