ความท้าทายการทำข่าวภาคใต้

ความท้าทายการทำข่าวภาคใต้

ปกรณ์ พึ่งเนตร หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา และผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กล่าวถึงความท้าทายในการทำข่าวความขัดแย้งในภาคใต้ว่า หนึ่ง คืองานด้านความมั่นคง เนื่องจากรัฐบาลไทยให้กองทัพ โดย กอ.รมน. เป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหา เมื่อมีการทำข่าวภาคใต้ในเชิงตรวจสอบ โดยนำเสนอคนที่ไม่ได้พูด กลุ่มคนที่ถูกจับ สื่อก็จะถูกมองว่าอยู่ตรงข้ามกับรัฐ หรือไม่รักชาติ ทั้งที่บางเรื่องไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของชาติ แต่เป็นความมั่นคงของคนบางคนในกองทัพ เช่น เรื่อง GT200 แอร์ชิพ โรฮิงญา โดยวันที่มีการสอบทหารที่เกี่ยวข้องกรณีโรฮิงญา ตนเองได้ยินว่ามีทหารระดับ พ.อ. พ.ต. ร.ท. เกี่ยวข้องด้วย แต่สุดท้ายกลับมีการบอกว่าเป็นการนำรถไปช่วยขนคน ซึ่งนี่ไม่ต่างจากเรื่องเล่าที่ว่ามีตำรวจไปทลายแหล่งขายบริการ แล้วพบตำรวจซึ่งเป็นผู้ซื้อบริการ แล้วได้คำตอบว่ามาล่อซื้อ ทำให้ไม่มีการสืบสวนต่อ นอกจากนี้ในการทำข่าวจะถูกคุกคามด้วยวาจา เช่น ผู้นำกองทัพไม่ให้ข่าว และยังด่ากลับ ขณะที่ลับหลัง จะมีทีมงานมาคุย ให้ข้อมูลอีกแบบ และที่ร้ายกว่านั้นในพื้นที่ยังมีการให้เงินจ้างให้นักข่าวรายงานเฉพาะสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงต้องการด้วย

ปกรณ์ กล่าวต่อว่า สอง วิธีการนำเสนอ ลักษณะของข่าวไทยนั้นเน้นรายวัน จบแล้วจบเลย ยากที่จะมีการเกาะติด ตามจนจบ โดยยกตัวอย่างตนเองที่วานนี้ได้รับมอบหมายให้ทำรายงานเรื่องกล้องวงจรปิดถูกเผาที่ภาคใต้ ซึ่งก็ทำจนดึก พอมาเช้านี้มีข่าวกำนันเป๊าะถูกจับ เรื่องของตนคงไม่ได้ตีพิมพ์ และตลอดอาทิตย์นี้คงมีแต่เรื่องกำนันเป๊าะ ทั้งที่มาของคดี การกลับเข้าประเทศ ทั้งนี้ การทำข่าวเช่นนี้ของสื่อก็สะท้อนสังคมไทยที่ตามข่าวแบบผิวเผินด้วย สังเกตจากตอนที่ตนเองทวีตข่าวในวันตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีผู้ติดตามและรีทวีตจำนวนมาก แต่พอวันถัดมา ก็ไม่มีใครสนใจแล้ว

ปกรณ์กล่าวว่า นอกจากนี้การที่นักข่าวในพื้นที่ต้องตามข่าวรายวัน ต้องส่งข่าวให้ได้ จึงเกิดปรากฏการณ์ได้ข่าวจากรัฐฝ่ายเดียว เช่น ในการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งว่าเป็นมือปืน มีหมายจับ 30-60 หมายจับ ขณะที่ในเว็บของกองปราบฯ นั้น คนที่เป็นมือปืนมือหนึ่งมีหมายจับเพียง 7 หมายจับเท่านั้น ตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีนักข่าวคนไหนไปตามที่บ้านของผู้ตาย ไปถามความเห็นจากคนใกล้ตัวเขาเลย ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าหากผู้ต้องสงสัยดังกล่าวมีหมายจับจำนวนมาก ฆ่าได้หมดทุกคนก็คงเก่งมากๆ เพราะสามารถฆ่าตำรวจที่จบพลร่มได้ หรือกรณียิงครูจำนวนมากตั้งแต่กันยายนถึงสิ้นปี รวมแล้ว 11 กรณี ไม่มีใครนำเสนอต้นทางของปัญหาซึ่งคือการตายของผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนสอนศาสนาชื่อดังซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้นอกจากนักข่าวมาเลเซีย โดยชาวบ้าน-คนในพื้นที่เชื่อว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ สร้างความชอบธรรมให้ขบวนการก่อความไม่สงบที่จะแก้แค้นคืน เกิดการเอาคืน มีการฆ่าผู้อำนวยการโรงเรียนสายสามัญของรัฐ

สาม ความท้าทายสังคมในพื้นที่เอง แยกเป็นสองส่วน คือ หนึ่ง ภาคประชาสังคม ซึ่งหลังๆ มีวาระในการเคลื่อนไหวของตัวเอง ด้านสิทธิมนุษยชนบ้าง ด้านการเมืองการปกครองเรียกร้องเขตปกครองพิเศษ ทำให้สื่อทำงานยาก บางทีเสนอมุมที่แตกต่าง องค์กรเหล่านี้ไม่ยอมรั ตอบโต้หรือกดดันสื่อ อีกกลุ่มคือ สังคมในพื้นที่ที่มีกระแสอิสลามภิวัฒน์สูง ตัวเองโดนกดดันเยอะ เพราะไม่ได้เป็นมุสลิมและทำงานในส่วนกลาง ทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือ ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกัน หรือพูดภาษาเดียวกัน ทั้งที่นักข่าวของตนเป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว